การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the Oppressed)
Paulo Freire (เปาโล เฟรเร)เป็นหนังสือทางด้านปรัชญาการศึกษา ที่อดีตผู้มีอํานาจในบ้านเมืองสมัยหนึ่ง เคยประกาศเป็นหนังสือต้องห้าม เขียนโดย เปาโล เฟรเร แปลโดย ช.เขียวพุ่มพวง เมื่อ ๔๐ กว่าปีที่แล้ว ราว ๆ พ.ศ. ๒๕๑๕ การศึกษาทั่วทั้งโลกตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคน นักคิดนักเขียนบางคนประกาศว่า "โรงเรียนตายแล้ว" ขณะที่บางคนพูดถึงสังคมที่ไร้ระบบโรงเรียน (deschooling society) ช่วงนั้นเองมีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งแหวกไปจากเล่มอื่น ๆ และได้รับการกล่าวขานอย่างมาก คือ "การศึกษาของผู้ถูกกดขี่" ซึ่งชี้ว่าระบบการศึกษาทุกวันนี้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเพื่อกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ยากไร้ แต่นอกจากวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ผู้เขียน คือเปาโล เฟรเรยังทำมากกว่านั้นก็คือ เสนอทางเลือกใหม่ อันได้แก่ การศึกษาที่ปลุกจิตสำนึกของคนยากไร้ให้ตระหนักถึงสภาวะที่ตนถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นการศึกษาที่มาจากชาวบ้านเอง ซึ่งเขาได้พิสูจน์ว่า ช่วยให้ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้เร็วขึ้น หนังสือของเปาโล เฟรเรอ่านยากมาก แม้คนไทยตอนนั้นน้อยคนจะได้อ่าน แต่สาระที่ถ่ายทอดผ่านวารสารอย่าง ปาจารยสาร และศูนย์ศึกษา ก็ทำให้นักศึกษาปัญญาชนยุคก่อน ๑๔ ตุลา ตื่นตัวกันมาก วารสารเล่มแรกของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ถึงกับตั้งชื่อว่า "กด" สร้างความตื่นตกใจให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและรัฐบาลเป็นอย่างมาก ตอนนั้นนอกจากคำว่า "กดขี่" แล้ว คำว่า conscientization กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันมาก มีนักเคลื่อนไหวหลายคนนำเอาแนวคิดของเฟรเรไปใช้ในการทำงานกับชาวบ้านในสลัม แม้กระนั้นฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อในการศึกษาแบบยัดเยียด หรือมีการชี้นำ พูดอีกอย่างคือ เชื่อในการศึกษาเพื่อผู้ถูกกดขี่ มากกว่า การศึกษาของผู้ถูกกดขี่